ชนิดของยาง

 

สามารถแบ่งยางดิบออกได้เป็น 2 ประเภทคือ ยางดิบได้ที่มาจากต้นพืชเรียกว่า ยางธรรมชาติ (Natural Rubber, NR) และยางดิบที่ได้จากการสังเคราะห์โดยกระบวนการ “Polymerization” เรียกว่ายางสังเคราะห์  (Synthetic Rubber, SR) ซึ่งจะมีหลายชนิด ดังนี้

  1. ยางสไตรีนบิวตาไดอีน (SBR)
  2. ยางเอทธิลีนโพรพิลีนไดอีน (EPDM)
  3. ยางไนไตร์ล (NBR)
  4. ยางไฮโดรเจนเนตอะไครโลไนไตร์ลบิวตาไดอีน (HNBR)
  5. ยางคลอโรพรีน (CR)
  6. ยางคลอโรซัลโฟเนตพอลิเอธิลีน (CSM หรือ Hypalon)
  7. ยางพอลิอะไครเลตหรือยางอะไครลิค (Polyacrylate Rubber หรือ Acrylic Rubber, ACM)
  8. ยางซิลิโคน (Q)
  9. ยางฟลูออโรคาร์บอน (FPM หรือ FKM)
  10. ยางพอลิยูรีเธน (AU/EU)

 

*** (ในที่นี้จะกล่าวถึงชนิดยางที่บริษัท เอส พี พี อินดัสเตรียลรับเบอร์ จำกัด ใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางให้แก่ลูกค้า)

 

 

 

NR RUBBER

 

   ยางธรรมชาติจัดเป็นยางเอนกประสงค์ที่สามารถนำไปใช้ในการผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ ได้มากมายเนื่องจากยาง NR มีสมบัติเชิงกลและเชิงพลวัตที่ดี อย่างไรก็ตาม ยาง NR ก็มีข้อด้อยหลักคือไม่ทนต่อความร้อน สภาพอากาศ น้ำมัน และสารเคมีอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ ยางสังเคราะห์ชนิดต่างๆ จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญแทนที่ยาง NR อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ยางบางประเภทยังคงจำเป็นต้องใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต เนื่องจาก

 

     1. ยาง NR มีสมบัติดีเยี่ยมในด้านความทนทานต่อแรงดึงแม้ไม่ได้เติมสารตัวเติมเสริมแรงและมีความยืดหยุ่นสูงมาก จึงเหมาะที่จะใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์บางชนิด เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ลูกโป่ง และยางรัดของ เป็นต้น 

    2. ยาง NR มีสมบัติทั้งเชิงกลและเชิงพลวัตที่ดี มีความยืดหยุ่นสูง ในขณะที่มีความร้อนสะสมที่เกิดขณะใช้งานต่ำและมีสมบัติความเหนียวติดกันที่ดี จึงเหมาะที่จะไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น ยางล้อรถบรรทุก ฝายยาง ยางกันกระแทก หรือใช้ผสมากับยางสังเคราะห์อื่นๆ เพื่อช่วยปรับปรุงเสริมแรงประสิทธิภาพอื่นๆ เป็นต้น

 

คุณสมบัติของยางธรรมชาติ (Natural Rubber, NR)

   1. มี tack สูง (ในรูปของยางดิบหรือยางคอมพาวด์) 

   2. มีความยืดหยุ่น (Elastic) สูง กระเด้งตัว (Resilience) ได้ดี 

   3. มีความทนทานต่อแรงดึง (Tensile strength) สูง 

   4. มีความทนทานต่อการฉีกขาด (Tear Strength) ดี 

   5.มีความต้านทานต่อการขัดถูพอใช้ 

   6. จัดยางที่ไม่อิ่มตัวและไม่มีขั้ว               

        6.1 ทนทานต่อสารเคมีที่มีขั้วได้ดี

        6.2 ไม่ทนต่อน้ำมันปิโตรเลียมหรือสารละลายที่ไม่มีขั้วต่างๆ

        6.3 เสื่อมสภาพเร็วภายใต้อุณหภูมิที่สูง แสงแดด โอโซนและออกซิเจน

 

 

 

 

SBR RUBBER

   ยาง SBR เป็นยางโคพอลิเมอร์ระหว่างสไตรีนและบิวตาไดอีนด้วยวิธี “Emulsion Polymerization” ได้เป็นยาง SBR ซึ่งมีชื่อเรียกในสมัยก่อนว่า Buna-S ยาง SBR เป็นยางประเภทใช้งานได้ทั่วไปเช่นเดียวกับยางธรรมชาติและยาง IR เพราะสามารถใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง

ยาง SBR จัดเป็นยางสังเคราะห์ที่สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายและสามารถนำไปใช้แทนยางธรรมชาติได้ (ยกเว้นในกรณีของการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ต้องการสมบัติเชิงพลวัตที่ดี) ดังนั้นยางชนิดนี้จึงถูกนำไปใช้ในการผลิตสายพาน พื้นรองเท้า ฉนวนหุ้มสายไฟ ท่อยาง และที่สำคัญคือยางชนิดนี้ส่วนมากจะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตยางล้อยานพาหนะขนาดเล็กโดยใช้ผสมกับยางชนิดอื่นๆ

 

คุณสมบัติของยาง SBR (Styrene-Butadiene-Rubber)

  1. โครงสร้าง : Random copolymer
  2. มี Strene -23% และ Butadien -77%
  3. เป็นยางสังเคราะห์ที่ใช้กันมากและสำคัญที่สุด
  4. จัดเป็นยางที่ไม่อิ่มตัวและไม่มีขั้ว
  5. มีความหนืดต่ำกว่ายางธรรมชาติ
  6. มีความต้านทานต่อการขัดถูสูงกว่ายางธรรมชาติเล็กน้อย
  7. มี tack ต่ำ
  8. มีความทนทานต่อแรงดึงและต่อการฉีกกขาดต่ำจำเป็นต้องเติมสารตัวเติมเสริมแรง
  9. มีความยืดหยุ่น (Elasticity) และการเด้งตัว (Resilience) ต่ำกว่ายางธรรมชาติ จะทำให้เกิดความร้อนสะสม (Heat buildup) สูง
  10. ไม่ทนต่อน้ำมันปิโตรเลียมหรือสารละลายที่ไม่มีขั้วต่างๆ
  11. ยางเสื่อมสภาพเร็วภายใต้อุณหภูมิที่สูง แสงแดด โอโซนและออกซิเจน

ยาง SBR สามารถนำไปใช้งานได้ในช่วงอุณหภูมิ -50°C ถึง 100°C

 

 

 

 

EPDM RUBBER

 

   ยาง EPDM มีสมบัติเด่นในด้านการทนทานต่อความร้อน แสงแดด ออกซิเจน และโอโซนได้เป็นอย่างดี ยาง EPDM มีหลายเกรด แต่ละเกรดแตกต่างกันที่สัดส่วนของเอทธิลีนและโพรพิลีน รวมถึงปริมาณของไดอีน โดยทั่วไปยางชนิดนี้จะมีเอทธิลีนอยู่ในช่วง 45-85%  โมล แต่ในเกรดที่มีขายกันโดยทั่วไปจะมีปริมาณเอทธิลีนอยู่ประมาณ 50-70%  โมลและมีปริมาณไดอีนอยู่ในช่วง 3-11% โมล สัดส่วนของเอทธีลีนและโพรพีลีนในยางก็มีผลกระทบโดยตรงต่อสมบัติของยาง กล่าวคือ ยางเกรดที่มีปริมาณเอทธิลีนสูงจะมีความแข็งแรงในสภาพที่ยังไม่คงรูปสูง แต่เมื่อปริมาณของเอทธิลีนลดลง ยางก็จะนิ่มและยืดหยุ่นมากขึ้น

ยาง EPDM ส่วนมากนิยมใช้ในการผลิตยางชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น ยางขอบหน้าต่าง ยางขอบประตู แก้ยางรถยนต์ ท่อยางของหม้อน้ำรถยนต์ (Radiator hose) เป็นต้น นอกจากนี้ยาง EPDM ยังถูกใช้ในการผลิตท่อยางของเครื่องซักผ้า สายพานลำเลียง แผ่นยางกันน้ำ แผ่นยางมุงหลังคา ฉนวนหุ้มสายเคเบิ้ล เป็นต้น

 

คุณสมบัติของยาง Ethylene-Propylene Diene terpolymer

  1. โครงสร้าง : Random copolymer ของ Ethylene, และ Propylene => EPR หรือ EPM
  2. จัดเป็นยางที่อิ่มตัวและไม่มีขั้ว
  3. ทนต่อการเสื่อมสภาพเนื่องจากสภาพอากาศ ออกซิเจน โอโซน แสงแดดและความร้อนได้ดี
  4. ไม่ทนต่อสารละลายที่ไม่มีขั้วหรือน้ำมัน (เช่นเดียวกับยางธรรมชาติ และ SBR)
  5. ยาง EPDM มีค่าความยืดหยุ่นสูงกว่ายางสังเคราะห์ชนิดอื่นๆ แต่ยังต่ำกว่ายางธรรมชาติ
  6. ยางชนิดนี้ไม่สามารถตกผลึกได้ ส่งผลให้ยางมีค่าความทนทานต่อแรงดึงค่อนข้างต่ำ จึงต้องอาศัยสารตัวเติมเสริมแรงเข้าช่วย
  7. ยางชนิดนี้สามารถทนต่อสารละลายที่มีขั้วได้ดี จึงทนต่อกรด ด่าง น้ำ แอลกอฮอล์ น้ำมันไฮโดรลิค และตัวทำละลายที่มีออกซิเจนเป็นองค์ประกอบได้เป็นอย่างดี
  8. ยางชนิดนี้มีค่าความต้านทานไฟฟ้าจำเพาะสูงมาก ดังนั้น ยางจึงมีความเป็นฉนวนสูงและยังสามารถรักษาสมบัติความเป็นฉนวนได้ดีแม้ที่อุณหภูมิสูงๆ
  9. ยาง EPDM สามารถใช้งานได้ที่อุณหภูมิตั้งแต่ -40†‡‹°C ถึง 140°C

 

 

 

 

NBR RUBBER (Nitrile / Acrylonitrile-Butadiene Rubber)

 

    ยางชนิดนี้มีความเป็นขั้วสูง จึงมีคุณสมบัติเด่นคือการทนต่อน้ำมันปิโตรเลียมและตัวทำละลายไม่มีขั้วต่างๆ ได้ดี สมบัติของยาง NBR จะแปรผันโดยตรงไปตามสัดส่วนปริมาณของอะไครโลไนไตร์ล หากมีปริมาณสูง จะทำให้ยาง “NBR มีความทนทานต่อน้ำมันปิโตรเลียมและตัวลำละลายไฮโดรคาร์บอนสูงขึ้น/ การกระเด้งกระดอนต่ำลง/ Compression Set ด้อยลง/ อัตราการซึมผ่านของก๊าซลดลง/ สมบัติการหักงอที่อุณหภูมิต่ำด้อยลง/ ความทนทานต่อความร้อนและโอโซนสูงขึ้น/ ความต้านทานต่อการขัดถูสูงขึ้น/ ความแข็งแรงและความทนทานต่อแรงดึงสูงขึ้น และ ความหนาแน่นสูงขึ้น”

 

      ยางชนิดนี้ส่วนใหญ่ถูกใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่ต้องสัมผัสกับน้ำมัน ทนทานต่อความร้อนและต้านทานต่อการขัดถูได้ดี ได้แก่ ประเก็นน้ำมัน ยางโอริง ยางซีล ยางเชื่อมข้อต่อ สายพานลำเลียง ท่อดูดหรือส่งน้ำมัน ท่อยางเสริมแรง ยางบุภาชนะ ยางเคลือบลูกกลิ้ง เป็นต้น

 

คุณสมบัติทั่วไปของยาง NBR (Nitrile Rubber)

  1. โครงสร้าง : Copolymer ของ Butadiene และ Acrylonitrile
  2. มี Acrylonitrile (ACN) 18 – 51% โดยน้ำหนัก
  3. จัดเป็นยางที่ไม่อิ่มตัวและมีขั้ว
  4. มีความทนทานต่อแรงดึงต่ำ
  5. ยาง NBR มีความเป็นขั้วสูง (ขึ้นอยู่กับปริมาณของ Acrylonitrile)
  6. ทนต่อน้ำมัน (ทั้งน้ำมันพืช น้ำมันสัตว์ และน้ำมันเชื้อเพลิง) น้ำ และสารละลายไม่มีขั้วได้ดี
  7. ไม่ทนต่อกรดแก่และของเหลวที่มีขั้ว
  8. ทนต่อความร้อนได้ดีกว่ายางธรรมชาติและยาง SBR แต่ยางก็ยังไม่เสื่อมสภาพได้ง่ายหากต้องสัมผัสกับแสงแดด โอโซน จึงต้องเติมสารป้องกันการเสื่อมสภาพเข้าช่วย
  9. ยางชนิดนี้ไม่สามารถตกผลึกได้เมื่อถูกยืด ดังนั้นยางชนิดนี้จึงมีค่าความทนทานต่อแรงดึงต่ำ
  10. ยาง NBR มีความต้านทานต่อการขัดถูสูง
  11. ยาง NBR มีช่วงอุณหภูมิการใช้งานตั้งแต่ประมาณ -40°C ถึง 120°C (ขึ้นอยู่กับปริมาณอะไครโลไนไตร์ล)

 

 

 

 

HNBR RUBBER (Hydrogenated Acrylonitrile-Butadiene Rubber)

 

   ยาง HNBR มีความทนทานต่อการเสื่อมสภาพอันเนื่องมากจากความร้อน (รวมถึงน้ำร้อนและไอน้ำ) สภาพอากาศ รังสีที่มีพลังงานสูง และโอโซนสูงมาก (ใกล้เคียงกับ EPDM) และยังทนต่อน้ำมันได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

      ยาง HNBR มีสมบัติทั่วไปอยู่ระหว่างยาง NBR และยางฟลูออโรคาร์บอน เนื่องจากยางชนิดนี้มีราคาสูง จึงนิยมใช้แทนยาง NBR เฉพาะในกรณีที่ต้องการใช้งานในสภาวะที่รุนแรงหรือที่อุณหภูมิสูงเท่านั้น ยางชนิดนี้มีข้อดีเหนือกว่ายางฟลูออโรคาร์บอนคือมีความทนทานต่อสารตัวเติมที่มีฤทธิ์เป็นด่าง เช่น สารประกอบของเอมีน ได้ดี จึงนิยมใช้กันมากในการผลิตชิ้นส่วนยางที่ใช้ในแท่นขุดเจาะน้ำมัน

 

คุณสมบัติทั่วไปของยาง HNBR (Hydrogenated Acrylonitrile-Butadiene Rubber)

  1. ยาง HNBR มีความทนทานต่อการเสื่อมสภาพอันเนื่องมาจากความร้อน น้ำมันร้อน ออกซิเจน โอโซน สารเคมีต่างๆ รวมถึงน้ำมันที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบหรือแม้แต่ไฮโดรเจนซัลไฟด์ได้เป็นอย่างดี
  2. ยาง HNBR มีความทนทานต่อแรงดึงสูง มีสมบัติการหักงอที่อุณหภูมิต่ำที่ดี
  3. ยาง HNBR มีความต้านทานต่อการขัดถูสูง แม้ได้รับอุณหภูมิสูงเป็นระยะเวลานานๆ

 

 

 

 

CR RUBBER (Chloroprene Rubber/ Neoprene Rubber)

 

   ยาง CR มีชื่อทางการค้าว่านีโอพรีน (Neoprene) ยางชนิดนี้มีค่าความต้านทานต่อแรงดึงสูง และยังมีความทนทานต่อการฉีกขาดและความต้านทานต่อการขัดถูสูงอีกด้วย ยาง CR จะถูกนำไปใช้งานอย่างกว้างขวางในผลิตภัณฑ์ที่ต้องการสมบัติเชิงกลที่ดี ทนต่อการติดไฟ ทนต่อน้ำมัน สภาพอากาศและโอโซน ซึ่งผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้งานในลักษณะดังกล่าว ได้แก่ ยางซีล ท่อยางเสริมแรง (Hose) ยางพันลูกกลิ้ง สายพานลำเลียงในเหมืองแร่ ยางกันกระแทก (Bearing)  ยางบุ (Lining) และผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในงานก่อสร้าง เช่น ยางขอบหน้าต่าง ขอบหลังคา ยางรองคอสะพาน และยางปลอกนอกของสายเคเบิ้ล

 

คุณสมบัติทั่วไปของยาง Chloroprene หรือ Neoprene (CR)

  1. มีสมบัติเชิงกลที่ดี เนื่องจากการตกผลึกขณะดึงยืด (Strain-induced crystallization)
  2. จัดเป็นยางที่ไม่อิ่มตัวและมีขั้ว (แต่น้อยกว่ายาง NBR)
  3. ทนทานความร้อนดีพอควร
  4. ทนต่อสารละลายที่ไม่มีขั้วได้ดีพอควร (แต่ด้อยกว่ายาง NBR)
  5. ไม่ทนต่อสารละลายไฮโดรคาร์บอนที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ
  6. มีสมบัติที่ดีในด้านการทนต่อเปลวไฟ (Self-extinguishing) นั่นคือเปลวไฟจะดับได้เองหลังจากที่แหล่งของเปลวไฟถูกนำออกไป ในขณะที่ยางชนิดอื่นๆ การเผาไหม้จะยังดำเนินต่อไปแม้แหล่งของเปลวไฟจะถูกนำออกไปแล้วก็ตาม
  7. ยาง CR สามารถทนต่อสภาพอากาศ ความร้อน โอโซน และแสงแดดได้ดีกว่ายางไดอีนทั่วๆไป
  8. ยาง CR มีอุณหภูมิการใช้งานอยู่ในช่วง -40°C ถึง 100°C

 

 

 

 

 

CSM RUBBER (Chlorosulfonated Polyethylene Rubber/ Hypalon)

 

   ยาง CSM มีชื่อทางการค้าว่า Hypalon ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้งานการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ต้องการสมบัติความทนทานต่อความร้อน เปลวไฟ โอโซน สภาพอากาศ สารเคมี และน้ำมันสูงๆ เช่น ปลอกหุ้มสายเคเบิ้ล ท่อยาง ยางหุ้มลูกกลิ้ง ยางบุปนัง ท่อที่ต้องทนต่อกรด แผ่นยางมุงหลังคา (Roofing) แผ่นยางรองสระ เป็นต้น

 

คุณสมบัติทั่วไปของยาง CSM หรือ Hypalon (Chlorosulfonated Polyethylene Rubber)

  1. ยาง CSM มีสายโซ่หลักเป็นพันธพที่อิ่มตัวหมด ดังนั้นยางชนิดนี้จึงมีความทนทานต่อการเสื่อมสภาพอันเนื่องมากจากโอโซนและสภาพอากาศได้อย่างดีเยี่ยม นอกจากนี้ยังทนต่อการเปลี่ยนสี (Discoloration) อันเนื่องมากจากแสงแดดและรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ได้ดีอีกด้วย
  2. ยาง CSM มีความเป็นขั้ว ยางชนิดนี้จึงทนต่อน้ำมันได้ปานกลางถึงดี (ระดับความทนทานจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณคลอรีน) และสามารถทนต่อกรด และสารเคมีต่างๆ ที่มีฤทธิ์กัดกร่อนได้อย่างดีเยี่ยม และยังทนต่อน้ำร้อนได้ดีอีกด้วย
  3. ยาง CSM มีสมบัติที่ไม่ลามไฟ กล่าวคือ เมื่อนำแหล่งกำเนิดเปลวไฟออก ไฟจะสามารถดับได้เอง
  4. ยาง CSM มีอุณหภูมิการใช้งานอยู่ในช่วง -10°C ถึง 125-150°C

(ในกรณี 150°C ถ้ายางไม่ได้ถูกใช้ในงานที่อุณหภูมิสูงอย่างต่อเนื่อง)

 

 

 

 

ACM RUBBER (Polyacrylate Rubber or Acrylic Rubber)

 

    ยาง ACM เป็นยางที่มีความเป็นขั้วสูงมาก ยางจึงทนต่อน้ำมัน ความร้อน สภาพอากาศ และโอโซนได้เป็นอย่างดี (สมบัติเหล่านี้ของยาง ACM อยู่ระหว่างยาง NBR และยาง FKM) ยาง ACM ส่วนใหญ่นำไปใช้งานในกรณีที่ต้องการทั้งความทนทานต่อความร้อนและน้ำมันโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น ยางโอริง ประเก็นท่อน้ำมัน วาวล์ และ Lip seal เป็นต้น

 

คุณสมบัติทั่วไปของยาง ACM (Polyacrylate Rubber/ Acrylic Rubber)

  1. ยาง ACM มีความทนทานต่อการเสื่อมสภาพอันเนื่งอมาจากออกซิเจน โอโซน และความร้อนได้เป็นอย่างดี
  2. ยางอะไครลิคที่คงรูปแล้วจะอ่อนลงค่อนข้างมากที่อุณหภูมิสูง (มากกว่ายางไดอีนทั่วไป)
  3. ยาง ACM มีความเป็นขั้วสูง ทำให้ยางชนิดนี้ทนต่อน้ำมันทั้งที่อุณหภูมิห้องและที่อุณหภูมิสูงได้อย่างดีเยี่ยม (แต่ยังด้อยกว่า FKM) นอกจากนี้ยังชนิดนี้ยังทนต่อสารเติมแต่งต่างๆ ที่มักเติมลงในน้ำมันบางประเภท (ซึ่งแตกต่างจาก NBR) ทำให้ยางชนิดนี้เริ่มเข้ามามีบทบาทแทนที่ยาง NBR ในการใช้งานหลากหลายชนิด อย่างไรก็ตามแม้ยางชนิดนี้จะทนต่อน้ำมันส่วนใหญ่ได้ดี แต่ยางชนิดนี้ไม่ทนต่อน้ำมันเชื้อเพลิง
  4. ยาง ACM สามารถทนต่อน้ำและสารเคมีต่างๆ ได้ไม่ค่อยดี

ยาง ACM มีอุณหภูมิการใช้งานที่ระหว่าง -10°C ถึง 150°C

 

 

 

 

SILICONE RUBBER (Q)

   ยางซิลิโคนนิยมใช้กันทั่วไปหลากหลายอุตสาหกรรม เนื่องจาก ยางชนิดนี้มีจุดเด่นที่สามารถทนความร้อนได้สูง และเป็นยางที่สะอาดไม่เป็นพิษ จึงนิยมใช้กันทั่วหลายในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมเภสัชกรรม และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น

นอกจากนี้มักใช้ทำฉนวนหุ้มสายเคเบิ้ล ยางโอริง หน้ากากออกซิเจน แป้นกดของโทรศัพท์มือถือ และใช้เป็นส่วนประกอบในของใช้ทั่วไป เช่น ซีลยางในกระติกน้ำ ซีลยางในหม้อต้ม และอื่นๆ มากมายที่เราสามารถเห็นได้ในชีวิตประจำวันเนื่องจากมีความปลอดภัยสูง

 

คุณสมบัติทั่วไปของยางซิลิโคน (Q)  

  1. ยางซิลิโคนมีหลายชนิด แต่ละชนิดจะแตกต่างกันที่หมู่ R ที่เกาะอยู่บนสายโซ่หลักของโมเลกุล
  2. ยางซิลิโคนสามารถทนต่อสภาพอากาศ โอโซน แสงแดด และความร้อนได้ดีกว่ายางที่เป็นพวกไฮโดรคาร์บอน
  3. ยางซิลิโคนสามารถใช้งานภายในได้ดีภายใต้อุณหภูมิสูงมาก และต่ำมาก
  4. ยางซิลิโคนมีค่า Compression set ต่ำ
  5. ยางซิลิโคนทนต่อน้ำมันได้ปานกลาง (เช่นเดียวกับยาง CR)
  6. ยางซิลิโคนทนทานต่อแบคทีเรียและเชื้อรา
  7. ยางซิลิโคนสามารถเข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อ
  8. ยางซิลิโคนมีความทนทานต่อแรงดึง แรงฉีกขาด และมีความต้านทานต่อการขัดถูต่ำมาก จึงจำเป็นต้องเติมสารตัวเติมเสริมแรงเข้าช่วย
  9. ยางซิลิโคนไม่ทนต่อกรด ด่าง ไอน้ำ และสารเคมีจำพวกเอสเทอร์ คีโตน และอีเธอร์
  10. ยางซิลิโคนมีอัตราการซึมผ่านของก๊าซและของเหลวสูง (ประมาณ 100 เท่าของยางบิวไทล์)
  11. ยางซิลิโคนมีความเป็นฉนวนไฟฟ้าที่อุณหภูมิห้องสูงมากที่สุดเมื่อเทียบกับยางชนิดอื่นๆ และยางชนิดนี้ยังคงรักษาสมบัติดังกล่าวได้แม้ที่อุณหภูมิสูงถึง 180°C
  12. ยางซิลิโคนมีสมบัติพิเศษอีกอย่างคือมีพื้นผิวที่ลื่น และไม่ชอบน้ำ ยางชนิดนี้จึงไม่เกาะติดกับพื้นผลิที่เหนียวรวมถึงน้ำแข็ง จึงนิยมใช้ยางซิลิโคนเป็นสารที่ป้องกันการเกาะติดกันของวัสดุบางประเภทหรือใช้ทำผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในตู้เย็น
  13. ยางซิลิโคนมีอุณหภูมิการใช้งานอยู่ระหว่าง -100°C ถึงอุณหภูมิที่สูง 220-300°C แล้วแต่เกรดของยางซิลิโคนชนิดนั้นๆ

 

 

 

 

FKM RUBBER (Fluorocarbon Rubber , FPM)

   ยางฟลูออโรคาร์บอนเป็นโคพิลิเมอร์ชนิดหนึ่งที่มีฟลูออรีนเป็นองค์ประกอบอยู่ในปริมาณสูงซึ่งฟลูออรีนนอกจากจะทำให้ยางมมีความเป็นขั้วและมีความเสถียรสูงมากแล้ว ยังทำให้ยางมีความทนทานต่อการเสื่อมสภาพอันเนื่องมาจากสภาพอากาศ ความร้อน ปฏิกิริยาออกซิเดชั่น เปลวไฟ และสารเคมีต่างๆ ได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย ยางชนิดนี้จึงมีราคาสูง และเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อทางการค้าว่า Viton ซึ่งมีหลายเกรดแตกต่างกันตามโครงสร้างทางเคมี และปริมาณของฟลูออรีนในยาง

ยางยางฟลูออโรคาร์บอนสามารถใช้ในการผลิตปลอกหุ้มสายไฟหรือสายเคเบิ้ล โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการความทนทานต่อความร้อน โอโซน สารเคมี และเปลวไฟสูงเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังสามารถนำยางชนิดนี้ไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้แก่ ท่อน้ำมันเชื้อเพลิง ยางโอริง ประเก็น ซีลยาง เป็นต้น

 

คุณสมบัติทั่วไปของยาง Fluoroelastomer (FKM)

  1. ยางฟลูออโรคาร์บอน หรือ Viton จัดเป็นยางอิ่มตัวและมีขั้ว
  2. ยางฟลูออโรคาร์บอน หรือ Viton ทนต่อความร้อนและสารเคมีได้ดี
  3. ยางฟลูออโรคาร์บอน หรือ Viton มีความทนทานต่อแรงดึง แรงฉีกขาด และมีความต้านทานต่อการขัดถูต่ำ จึงจำเป็นต้องเติมสารตัวเติมเสริมแรงช่วย
  4. ยางฟลูออโรคาร์บอน หรือ Viton มีสมบัติเชิงกลด้อยกว่ายางไดอีนชนิดอื่นๆ มาก และยังมีค่าความยืดหยุ่นค่อนข้างต่ำ
  5. ยางฟลูออโรคาร์บอน หรือ Viton มีความทานต่อความร้อนสูงที่สุดในบรรดายางทั้งหมด (นอกเหนือจากยางซิลิโคน) และเนื่องด้วยยางชนิดนี้มีพันธะอิ่มตัวหมด (ไม่มีพันธะคู่ในโมเลกุล) ดังนั้นยางชนิดนี้จึงทนต่อการเสื่อมสภาพอันเนื่องมาจากออกซิเจนและโอโซนได้เป็นอย่างดี
  6. ยางฟลูออโรคาร์บอน หรือ Viton สามารถทนต่อการบวมพองในน้ำมันร้อน น้ำมันปิโตรเลียม น้ำมันเชื้อเพลิง ตัวทำละลายไฮโดรคาร์บอนที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ กรด และสารเคมีต่างๆ ได้ดีเป็นพิเศษ แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรนำยางชนิดนี้มาใช้งานในกรณีที่ต้องสัมผัสกับเคมี ดังนี้

       6.1 ตัวทำละลายที่มีขั้น เช่น คีโตน อีเธอร์ และเอสเทอร์

       6.2 กรดอินทรีย์ที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ เช่น กรดฟอร์มิค และกรดอะซิติค

       6.3 น้ำร้อนและไอน้ำ

       6.4 เมทธานอล

       6.5 น้ำมันเบรกที่มีไกลคอลเป็นองค์ประกอบ

       6.6 กรดไฮโดรฟลูออริคและกรดคลอโรซัลโฟนิคที่ร้อน

       6.7 ด่างและสารประกอบเอมีน เพราะด่างจะทำให้ยางแข็ง เปราะ และมีรอบแตกได้ง่ายโดยเฉพาะอุณหภูมิสูง

 

  1. ยางฟลูออโรคาร์บอน หรือ Viton สามารถทนต่อการเสื่อมสภาพอันเนื่องมากจากรังสีที่มีพลังงานสูง

 

   ยางฟลูออโรคาร์บอน หรือ Viton สามารถทนต่อการเสื่อมสภาพอันเนื่องมาจากคววามร้อนสูงแล้ว ยางชนิดนี้ยังรักษาสมบัติความยืดหยุ่นไว้ได้ดีแม้ที่อุณหภูมสูง ๆ ถึง 200°C และบางครั้งยังสามารถนำไปใช้ในอุณหภูมิสูงถึง 300°C (ถ้ายางถูกใช้งานที่อุณหภูมินี้ในระยะสั้นๆ) สำหรับการใช้งานอุณหภูมิต่ำสามารถนำไปใช้งานได้ในอุณหภูมิ -20°C

 

 

 

 

Polyurethane Rubber (AU/EU/PU)

   ยางโพลียูรีเธนมักถูกนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความทนทานต่อสภาพอากาศและต้องการสมบัติความต้านทานต่อการขัดถูสูงมากๆ และ/หรือต้องการความทนทานต่อตัวทำละลายและน้ำมันที่ดี ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางโพลียูรีเธน ได้แก่ ท่อยาง ข้อต่อยาง ปลอกหุ้มสายเคเบิ้ล สายพานลำเลียง ล้อรถเข็น ยางพื้นรองเท้า ยางซีล และประเก็น เป็นต้น

คุณสมบัติทั่วไปของยาง Polyurethane Rubber (PU)

  1. ยางโพลียูริเธน (PU) มีคุณสมบัติเชิงกลที่มี ความทนทางต่อแรงดึง การฉีกขาด ความแข็ง และความต้านทานต่อการขัดถูสูงกว่ายางชนิดอื่นๆ
  2. ยางโพลียูริเธน (PU) มีพันธะคู่อยู่ในโมเลกุลน้อย ดังนั้นยางชนิดนี้จึงมีความทนทานต่อการเสื่อมสภาพเนื่องจากสภาพอากาศ ออกซิเจน และโอโซนได้ดี แต่อย่างไรก็ตามพบว่ายางยางโพลียูริเธนเกิดการเสื่อมสภาพได้ง่ายโดยเฉพาะในที่ร้อนชื้นหรือในสภาวะที่ต้องสัมผัสกับน้ำร้อน ไอน้ำ กรด หรือด่าง เป็นต้น
  3. ยางโพลียูริเธน (PU) มีความทนทานต่อการเสื่อมสภาพอันเนื่องมากจากรังสีที่มีพลังสูงได้ดี
  4. ยางโพลียูริเธน (PU) มีความทนทานต่อน้ำมัน จาระบี และตัวทำละลายไฮโดรคาร์บอนสายโซ่ตรงได้ปานกลางถึงดี
  5. ยางโพลียูริเธน (PU) สามารถนำไปใช้งานได้ในช่วงอุณหภูมิตั้งแต่ -35°C ถึง 100°C (ในสภาวะที่แห้ง)

 

 

ช่วงอุณหภูมิการใช้งานของยาง (โดยทั่วไป)
ชนิดของยาง ช่วงอุณหภูมิการใช้งาน (°C)
NR -20 80
SBR -20 100
EPDM -40 140
NBR -20 120
HNBR -25 150
CR -40 100
CSM/Hypalon -10 150
ACM -10 150
Silicone -40 >180
FKM/VITON -20 >200
AU/PU -35 100